ประวัติสังเขป
สมาคมเผยแผ่คุณธรรม “เต็กก่า” จีจินเกาะ
ความเป็นมา
สมาคมเผยแผ่คุณธรรม “เต็กก่า” จีจินเกาะ เป็นหน่วยงานเอกชนที่ดำเนินงานด้านการกุศลสงเคราะห์ชุมชมมาเป็นเวลา ๖๐ ปี โดยในระยะแรกได้ดำเนินการแจกจ่ายยารักษาโรคแก่ผู้ยากไร้ในเขตกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ได้มีผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครอุทิศแรงกายและกำลังทรัพย์เกื้อหนุนงานดังกล่าวอย่างเข้มแข็ง เป็นผลให้กิจการของสมาคมเจริญรุดหน้ามาโดยลำดับ ดังในปัจจุบันได้ขยายงานกุศลด้านการช่วยเหลือสังคมออกไปเป็นโครงการคุณธรรม เพื่อการสงเคราะห์ และได้กระจายงานด้านการกุศลดังกล่าวไปยังส่วนภูมิภาค นับถึงปัจจุบันมีสมาคมและมูลนิธิต่างๆ ในเครือองค์กรเต็กก่า ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ และในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวรวมถึง ๘๘ แห่ง โดยสมาคมฯ ได้เข้าเป็นสมาชิกในภาคีองค์การเผยแผ่คุณธรรมเพื่อการกุศลสงเคราะห์นานาชาติ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ ประเทศสิงคโปร์ และเป็นองค์กรสมาชิกในเครือสมาคมสหพันธ์การกุศล “เต็กก่า” แห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในกิจการด้านกุศลสงเคราะห์ชุมชนที่สมาคมฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนั้น ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้วยดี ดังสมาคมฯ ได้จัดส่งผ้าห่มกันหนาวแจกจ่ายไปยังถิ่นทุรกันดารในเขตชนบทภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นประจำทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ผืนโดยที่ต่อมาสมาคมฯ ได้จดทะเบียนส่วนงานกุศลนี้เป็นมูลนิธิเผยแผ่คุณธรรมเพื่อการสงเคราะห์ จีจินเกาะ และได้รับ พระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทูล เกล้าฯ ถวายผ้าห่มกันหนาวและเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ทำการบริจาคโลงศพให้แก่ผู้อนาถาอีกปีละถึง ๒,๐๐๐ กว่าราย และทุกครั้งที่เกิดทุพภิกขภัยหรือภัยธรรมชาติ สร้างความเสียหายเดือดร้อนแก่ประชาชน สมาคมฯ ก็ได้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบเคราะห์ภัยเสมอมา เช่น บริจาคตู้ยาสามัญประจำบ้านพร้อมยารักษาโรคแก่ชาวเขาในเขตอำเภอออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ บริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทางภาคใต้และภาคอีสาน ฯลฯ หากที่สำคัญ สมาคมฯ ยังมีส่วนช่วยในกิจกรรมการเก็บศพไร้ญาติล้างป่าช้า ซึ่งจัดโดยสมาคมการกุศลต่างๆ เสมอมา นอกจากนี้ สมาคมฯยังได้จัดงานตามเทศกาลต่างๆ ของจีนขึ้นเป็นประจำทุกปี คือ งานฉลองตรุษจีน เทศกาลหง่วนเซียว พิธีโปรยทานทิ้งกระจาดในเดือนเจ็ด วันไหว้พระจันทร์ งานเทศกาลกินเจเดือนเก้า พิธีไหว้บรรพชนประจำฤดูชุนเทียนและชิวเทียน เป็นอาทิ ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมหลักซึ่งสมาคมฯ ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือไปจากการจัดพิมพ์ หนังสือธรรมะที่น่าสนใจแจกจ่ายในวงกว้าง ดังได้เคยจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ท่องขุมนรก ถวายวัดต่างๆ เกือบทั่วประเทศมาแล้ว ยังหนังสือบรมธรรม ก็ได้มีการแจกจ่ายเป็นธรรมทานอย่างกว้างขวาง และหนังสือธรรมอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากหากนับถึงปัจจุบันย่อมมีจำนวนถึงกว่าสองล้านเล่มแล้ว
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานในกิจการกุศลต่างๆ ของสมาคมฯ ที่ได้กล่าวมา ประสบความสำเร็จด้วยดี ทั้งนี้ ก็ด้วยกำลังแรงแห่งศรัทธาและความเสียสละของสาธุชนเป็นสำคัญ โดยที่นับวันจำนวนสมาชิกที่อุทิศตัวเข้าร่วมงานกับสมาคมฯ ก็ยิ่งจะทวีจำนวนมากขึ้น สมาคมฯ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างเทววิหารแห่งใหม่บนที่ดินจำนวนกว่า ๖๐๐ ตารางวา ซึ่งจัดซื้อไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา ๑๗ เขตคลองสาน ธนบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสวดมนต์ บูชาพระถือศีล ปฏิบัติธรรม และที่สำคัญเพื่อใช้เป็นสำนักงานของมูลนิธิเผยแผ่คุณธรรมเพื่อการสงเคราะห์ จีจินเกาะ ซึ่งได้จดทะเบียนในรูปมูลนิธิต่อทางราชการเรียบร้อยแล้ว นอก จากนี้ ก็เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหาความสงบสวยงามในทางธรรมอีกด้วย โดยสถาปัตยกรรมของเทววิหารนี้ เป็นงานพุทธศิลป์ประยุกต์ระหว่าง ไทย-จีน-ธิเบต งานก่อสร้างได้เริ่มมาแต่พุทธศักราช ๒๕๓๑ สิ้นค่าก่อสร้างไปกว่า ๕๐ ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน) ใช้เวลาดำเนินการกว่า ๕ ปี จึงลุล่วงแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ โดยต่อมาได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารตงอยู่ตึ้ง ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานแห่งใหม่และก่อสร้างเจดีย์ทรงจีนสูง ๙ ชั้น ใช้งบประมาณอีกกว่า ๕๐ ล้านบาท เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนพรรษาครบ ๖ รอบ โดยได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ประทานนามพระเจดีย์นี้ว่า “พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมชาตรีไทยจีนเฉลิม” และเสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพระเจดีย์นี้ ในคราวที่สมาคมได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเต็กก่านานาชาติครั้งที่ ๔ และการประชุมทรงเต็กก่าโลกครั้งที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้แทนองค์กรเต็กก่าจากทั่วโลกเดินทางมาร่วมประชุมกว่า ๒,๐๐๐ คน โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ อุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา เป็นประธานเปิดการประชุม และ ฯพณฯ เซี่ยฝูเกิน อุปทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานในงานเลี้ยงฉลอง ทั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่นับเป็นเกียรติประวัติสำหรับองค์กรเต็กก่าในประเทศไทย
บันทึกเหตุการณ์สำคัญ
ปลายปี พ.ศ. 2495 | ก่อตั้งสมาคมเผยแผ่คุณธรรม “เต็กก่า” จีจินเกาะ |
25 กุมภาพันธ์ 2496 |
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสมาคมเผยแผ่คุณธรรม “เต็กก่า” จีจินเกาะ ทั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ |
กลางปี พ.ศ. 2497 | เริ่มทำการแจกจ่ายยารักษาโรคแก่ผู้ยากไร้ ในเขตกรุงเทพฯ และเริ่มงานกุศลสงเคราะห์อย่างเป็นทางการ |
12 สิงหาคม 2516 | ฟื้นฟูกิจการของสมาคมขึ้นใหม่หลังจากยุติไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยตั้งสำนักงานชั่วคราวขึ้นที่บ้านของนายยิ่งชอ แซ่ลี้ เลขที่ 555/5 ถนนเจริญผลตัดใหม่ ต่อมาได้ย้ายที่ทำการมายังอาคารเลขที่ 347 จุฬาซอย 9 ถนนพระรามที่ 4 และเริ่มจัดพิมพ์หนังสือธรรมะภาษาจีนรายเดือน ออกเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจ |
ต้นปี พ.ศ. 2526 | ดำเนินการจัดซื้อที่ดินที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณข้างวัดทองนพคุณ เขตคลองสาน เพื่อก่อสร้างเทววิหารหลังใหม่ |
28 มิถุนายน 2531 | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงเจิมแผ่นศิลาฤกษ์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดปทุมคงคา ได้กรุณามาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์เทววิหารหลังใหม่ |
5 ธันวาคม 2533 | ทำพิธีหล่อพระพุทธรูปประธานและเทวรูปประจำเทววิหาร ในการนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ วัดพระนารายณ์มหาราช จังหวัดนครราชสีมา กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี |
16 มิถุนายน 2534 | พระธรรมปิฎก วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นประธานพร้อมด้วยพระวิปัสสนาจารย์จำนวน 10 รูป ทำพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปและเทวรูปประจำเทววิหาร |
26 มิถุนายน 2534 | สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดปทุมคงคา เป็นประธานในพิธีเปิดเทววิหารส่วนหน้า |
14 มิถุนายน 2535 | สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงพระเมตตาเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีบรรจุพระธาตุและมงคลรัตนะลงในผอบทองคำ และอัญเชิญขึ้นประดิษฐานยังพระเจดีย์ทองเหนือเทววิหาร |
27 สิงหาคม 2535 | สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงพระเมตตาประทานพระอนุญาตให้อัญเชิญพระนามย่อ ญ ส ส. ประดิษฐานเหนือแท่นบูชาภายในเทววิหารและประทานนามพระประธานประจำเทววิหารว่า “พระพุทธศากยมหามุนีวิสุทธิคุณ” |
27 เมษายน 2536 | สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดป้ายเทววิหาร |
มิถุนายน 2538 | ก่อตั้งมูลนิธิเผยแผ่คุณธรรมเพื่อการสงเคราะห์ จีจินเกาะ |
12 มิถุนายน 2538 | ฯพณฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดอาคารมูลนิธิเผยแผ่คุณธรรมเพื่อการสงเคราะห์ จีจินเกาะ |
8-19 พฤษภาคม 2541 | ร่วมกับวัดพิชัยญาติการาม จัดงานมหากุศลเก็บศพไร้ญาติล้างป่าช้ารวม 12 วัน |
20 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2542 | จัดพิธีรับเทวรูปเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวองค์ทองคำ จากปัตตานี ซึ่งสร้างขึ้นเป็นพิเศษเพื่อน้อมเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหาวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ มีประชาชนชาวไทย-จีนมาถวายสักการะอย่างล้นหลาม |
1 มกราคม 2543 | สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมชาตรีไทยจีนเฉลิม และทรงปลูกต้นสาละเป็นที่ระลึก |
12-15 พฤศจิกายน 2543 | ร่วมกับวัดชิโนรสาราม จัดงานมหากุศลเก็บศพไร้ญาติล้างป่าช้ารวม 4 วัน |
10-13 สิงหาคม 2544 | จัดงานเบญจมงคลสมโภช เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้งสมาคมและเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมทรงเต็กก่าโลกครั้งที่ 5 และงานประชุมภาคีเต็กก่านานาชาติครั้งที่ 4 โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพระมหาธาตุเจดีย์พระจอมชาตรีไทยจีนเฉลิม ในวันที่ 10 สิงหาคม 2544 โดยทรงปลูกต้นพยุงเป็นที่ระลึก |
20-26 สิงหาคม 2548 | ร่วมกับวัดยานนาวา จัดงานมหากุศลเก็บศพไร้ญาติล้างป่าช้ารวม 7 วัน |
24-30 กรกฎาคม 2553 | ร่วมกับวัดทองนพคุณ จัดงานมหากุศลเก็บศพไร้ญาติล้างป่าช้า รวม 7 วัน |
This post is also available in: จีนดั้งเดิม